นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรีให้คำแนะนำประชาชนป้องกันโรคและ ภัยสุขภาพในช่วงฤดูร้อนและการป้องกันโรคโควิด-19 หลังเทศกาลสงกรานต์

Star InactiveStar InactiveStar InactiveStar InactiveStar Inactive
 
วันนี้ 21 เมษายน 2566 เวลา 09.30 น. ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดกาญจนบุรี (สวท.กาญจนบุรี AM558 KHz / Radiokan Prd live) นายแพทย์ชาติชาติ กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ให้สัมภาษณ์สดในรายการ “คุยให้ชัด ผู้ว่าฯ จัดให้” ร่วมรายการกับคุณณัฏฐภัส เหลืองพฤกษชาติ นักสื่อสารมวลชนปฏิบัติการ เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพในช่วงฤดูร้อนและการป้องกันโรคโควิด-19 หลังเทศกาลสงกรานต์ ปี 2566 ซึ่งการดูแลสุขภาพป้องกันโรคและภัยสุขภาพในช่วงฤดูร้อนที่พบบ่อย ควรระวังป้องกันโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอาหารเป็นพิษ โรคอหิวาตกโรค โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด โรคไวรัสตับอักเสบ เอ และ อี รวมทั้งโรคจากสัตว์สู่คนที่สำคัญในช่วงหน้าร้อนคือโรคพิษสุนัขบ้า ภัยสุขภาพในช่วงฤดูร้อน ได้แก่ การเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน โรคลมแดด และการป้องกันเด็กจมน้ำเนื่องจากฤดูร้อนและเด็กปิดภาคเรียนด้วย เบื้องต้นขอแนะนำประชาชนระมัดระวังความสะอาดของน้ำและอาหารมากขึ้น อย่าลืม “กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ”
สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 หลังเทศกาลสงกรานต์ของจังหวัดกาญจนบุรี พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย รายงานผู้ติดเชื้อรายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 7-17 เมษายน 2566 มีผู้ติดเชื้อจำนวน 68 ราย วันที่ 18-20 เมษายน 2566 มีผู้ติดเชื้อจำนวน 169 ราย สถานการณ์โรคโควิด-19 จังหวัดกาญจนบุรีปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง ปี 63 ผู้ป่วยสะสม 8 ราย ปี 64-65 ที่ระบาดมากๆต่อเนื่องมา กาญจนบุรีมีผู้ป่วยสะสม จำนวน 34,999 ราย เสียชีวิต 17 ราย สำหรับในปีนี้ 2566 มีผู้ติดเชื้อ 1,385 ราย เสียชีวิต 16 ราย คำแนะนำการป้องกันโรคโควิด-19 หลังเทศกาลสงกรานต์ ควร
สังเกตอาการตนเองอย่างน้อย 7 วัน ระหว่างนี้หลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หากมีอาการป่วยให้ตรวจ ATK ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำปี จะช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ สวมหน้ากากในที่สาธารณะโดยเฉพาะเมื่อร่วมกิจกรรมในสถานที่ที่มีกลุ่มคนจำนวนมาก ตรวจ ATK เมื่อป่วยมีอาการทางเดินหายใจ ไข้ ไอ เจ็บคอ หากผลเป็นบวก ให้สวมหน้ากากเมื่อใกล้ชิดผู้อื่น หลีกเลี่ยงใกล้ชิดกลุ่ม 608 สถานที่มีคนจำนวนมาก หากอาการมากขึ้น เช่น เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัสและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด กรณีที่มีสมาชิกครอบครัว เพื่อน/เพื่อนนักเรียน/เพื่อนร่วมงานที่ตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวกในช่วง 1-2 สัปดาห์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรค

© 2025 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ที่อยู่ ถนนแสงชูโต ตำบลปากแพรก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี 71000 หมายเลขโทรศัพท์ 034-512961, 034-540632 หมายเลขโทรสาร 034-511734 ,